คำขอโทษภาษาญี่ปุ่น
คำว่า ขอโทษ ภาษาญี่ปุ่น มีหลายคำ หลายระดับ ซึ่งวิธีใช้แต่ละคำก็จะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์และคู่สนทนา ลองมาดูคำขอโทษที่ใช้กันบ่อย เรียงจากระดับข้าน้อยสมควรตายไปจนถึงระดับกันเอง ดังนี้
申し訳ございません
หากแปลตรงตัวจะแปลว่า “ไม่มีข้อแก้ตัว” ถือเป็นคำขอโทษแบบสุภาพขั้นสุด แสดงความรู้สึกผิดสูงสุด เทียบได้กับคำว่า “ขออภัย” มักใช้ในระดับธุรกิจ เช่นเวลากล่าวขอโทษลูกค้า หรือขอโทษเจ้านาย
สำหรับการขอโทษการกระทำที่ผ่านมาแล้ว สามารถผันเป็นรูปอดีตได้โดยการเติมคำว่า เดชิตะ (でした) เป็น โมชิวาเกะโกไซมาเซ็นเดชิตะ (申し訳ございませんでした)
申し訳ありません
คำว่าโกไซมาเซ็น คือรูปสุภาพของอาริมาเซ็น คำนี้จึงใช้ไม่ต่างจากด้านบนนัก เพียงแค่ลดความเป็นทางการลงมาอีกนิด สามารถเติมเดชิตะเพื่อผันเป็นรูปอดีตได้เช่นกัน
すみません
สุมิมาเซ็นคือคำขอโทษภาษาญี่ปุ่นที่ใช้บ่อย และใช้ได้หลายสถานการณ์ ถือเป็นคำขอโทษในระดับกลางๆ เช่น ขอโทษเวลาเดินชนคนอื่น ขอโทษเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ยังใช้ในความหมายว่า Excuse me เวลาจะขอทางหรือเรียกคนได้อีกด้วย สามารถเติมเดชิตะเพื่อผันเป็นรูปอดีตได้เช่นกัน
สุมิมาเซ็น แปลว่าขอบคุณได้ด้วย
นอกจากขอโทษแล้ว คำนี้ยังใช้ในความหมายว่า “ขอโทษที่ต้องรบกวนและขอบคุณนะ” ได้ เช่น ขอบคุณเวลาได้รับความช่วยเหลือ เวลาขอให้อีกฝ่ายช่วยคำอะไรบางอย่างให้ หรือเวลาใครทำอะไรให้แต่เรารู้สึกเกรงใจ เป็นต้น
ごめんなさい
โกเมนนาไซอยู่ในระดับพอๆ กับสุมิมาเซ็น แต่มักใช้กับคนในครอบครัวหรือคนสนิท เช่น เวลาขอโทษพ่อแม่ กรณีใช้กับคนแปลกหน้าจะนิยมพูดว่าสุมิมาเซ็นมากกว่า หรือหากพูดกับคนที่ไม่รู้จักมักจะใช้กับคนที่อายุน้อยกว่า
ในทางกลับกัน บางกรณีการใช้คำว่าโกเมนนาไซกับคนแปลกหน้าก็นับเป็นการแสดงความรู้สึกผิดมากกว่าสุมิมาเซ็น เช่น เวลาชนคนล้มจนเขาบาดเจ็บ การพูดว่าโกเมนนาไซจะฟังดูแสดงความเสียใจมากกว่าสุมิมาเซ็น
คำนี้ไม่มีการผันเป็นรูปอดีต เติมเดชิตะไม่ได้
ごめん
โกเมนจะเป็นกันเองมากกว่าโกเมนนาไซ ใช้กับคนในครอบครัว เพื่อน คนสนิท หรือคนที่อายุน้อยกว่า สามารถเติมเนะ (ね) เป็น โกเมนเนะ ในความหมายว่า ขอโทษนะ
申し訳ない
แม้โมชิวาเกะโกไซมาเซ็นจะอยู่ระดับสูงสุด แต่โมชิวาเกะไน่จะใช้กับคนกันเองเท่านั้น ส่วนมากจะใช้กับเพื่อน รุ่นน้อง เพื่อนร่วมงานที่สนิทกัน โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชาย
すまない
เป็นรูปที่สุภาพน้อยกว่าสุมิมาเซ็น ใช้กับคนกันเอง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชาย ผันเป็นรูปอดีตว่า สุมานะคัตตะ (すまなかった) อาจพูดให้สั้นลงอีกว่า สุมัน (すまん)
悪い
คำนี้แปลตรงตัวว่า “ไม่ดี” สามารถใช้เป็นคำขอโทษระดับกันเองได้ เทียบเท่ากับคำว่า “โทษที” เป็นคำที่ผู้ชายมักใช้เวลาขอโทษเพื่อนหรือคนที่อายุน้อยกว่า สามารถผันเป็นรูปอดีตว่า วารุคัตตะ (悪かった)
การโค้ง
การขอบคุณและขอโทษของญี่ปุ่นมักมาคู่กับการโค้งตัว โดยสามารถโค้งได้หลายระดับ ยิ่งโค้งต่ำเท่าไหร่ยิ่งเป็นการแสดงความรู้สึกผิดมากเท่านั้น
การพนมมือ
ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการพนมมือประกอบการขอโทษเหมือนไทย แต่จะแค่ประกบมือเข้าด้วยกัน ไม่ยกจรดคิ้วหรือจมูกเหมือนไทย ใช้ในระดับกันเองเท่านั้น ไม่ใช้ในระดับทางการ
การคุกเข่าขอขมา
ขั้นสุดของการขอโทษคือ การคุกเข่าขมา หรือที่เรียกว่า โดเกสะ (土下座) มาจากธรรมเนียมญี่ปุ่นโบราณ โดยจะคุกเข่าสองข้าง วางมือทั้งสองไว้หน้าเข่า แล้วก้มหัวลง คล้ายกับการหมอบกราบของไทย จะใช้เมื่อทำความผิดร้ายแรง หรือในทางตรงกันข้ามคือใช้ในการล้อเล่นทำโอเว่อร์ ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อในชีวิตประจำวันนัก
รู้จักคำขอโทษแล้ว ไปดู คำขอบคุณภาษาญี่ปุ่น กันด้วยดีกว่า
รู้จัก คำ ขอบคุณภาษาญี่ปุ่น : นอกจาก อาริกาโตะ แล้วพูดว่าอะไรได้อีก
หลายคนรู้จักว่า คำขอบคุณภาษาญี่ปุ่น คือ อาริกาโตะ แต่ความจริงแล้วญี่ปุ่นมีวิธีพูดขอบคุณหลายแบบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคู่สนทนา มาดูกันว่าตอนไหนควรใช้คำไหนดี