จากข่าวทางญี่ปุ่นที่ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ได้ทรงไว้ทุกข์แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชวงศ์ไทยและญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงทุกภาคส่วนของญี่ปุ่นที่แสดงความอาลัยในเหตุการณ์ครั้งนี้ บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ดีทั้งภาคธุรกิจและประชาชน
เราจึงขอเป็นสื่อกลางเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์อันดีที่สำคัญระหว่างสองประเทศให้แก่ประชาชนคนไทยได้ทราบ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งในบทความนี้เราจะกล่าวถึงพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนา
❈ ทรงทอดพระเนตรการดำเนินการของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
Cr: หนังสือ เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง
ในปี พ.ศ. 2506 ภายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พ.ค. – 5 มิ.ย. พ.ศ. 2506 เพื่อการเจริญสัมพันธไมตรี อันเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง ซึ่งสำนักพระราชวังได้ประมวลภาพพระราชกรณียกิจครั้งนี้เอาไว้ ซึ่งเป็นภาพที่ใครหลายคนยังไม่เคยเห็น เราจึงขอนำมาให้ทุกท่านได้ชมกัน
Cr: หนังสือ เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง
เมื่อครั้ง ในหลวงเสด็จเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ทรงเสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานอินเตอร์เนชั่นแนล กรุงโตเกียว (Tokyo International Airport)หรือสนามบินฮาเนดะในปัจจุบัน วันที่ 27 พ.ค. พ.ศ. 2506 ในครั้งนั้นได้ประทับที่ ที่ประทับ เกฮินคัง (Geihinkan) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ Akasaka Palace (赤坂離宮 Akasaka rikyu)
สถาปัตกรรมรูปแบบบาร็อคที่สร้างมาตั้งแต่สมัยเมจิ เดิมสร้างเพื่อเป็นที่ประทับของมกุฎราชกุมาร ปัจจุบันใช้เพื่อเป็นที่พำนักของแขกบ้านแขกเมือง พระราชวังแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกแห่งชาติญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2009 ตั้งอยู่ในเขตมินาโตะ โตเกียว ซึ่งโดยปกติทางรัฐบาลญี่ปุ่นจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเป็นช่วงๆ โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชม
ทรงทอดพระเนตรการดำเนินการของอุตสาหกรรมต่างๆ ของญี่ปุ่น
Cr: หนังสือ เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง
พระราชกรณียกิจหลักของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในครั้งนั้นคือการการทอดพระเนตรการดำเนินงานของอุตสาหกรรมต่างๆ ของญี่ปุ่นซึ่งโดดเด่นในด้านเทคโนโลยี ทั้ง โรงงานผลิตกล้องถ่ายรูปแคนนอน (Canon Camera Co., Ltd) บริษัทนิปปอนอิเล็คทริค (Nippon Electric Co., Ltd) บริษัทอุตสาหกรรมไฟฟ้ามัตสุชิตา อิเล็คทริค (Ibaragic Factory of Matsushita Electric Industry Co., Ltd) และอีกหลายโรงงานเพื่อศึกษาสำหรับนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย แสดงถึงความสนพระทัยในเรื่องเทคโนโลยี และการสื่อสารที่ปวงชนชาวไทยจะเห็นได้จากผลงานประดิษฐ์ และความคิดริเริ่มมากมายจากพระองค์ นอกจากนี้ยังไม่ละเลยกิจการด้านศิลปะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นสำหรับนำมาส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน
Cr: หนังสือ เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง
ทรงทอดพระเนตรการผลิตกล้องถ่ายรูปและเครื่องเจียรไนเลนส์ รวมทั้งการประกอบกล้อง ที่ โรงงานผลิตกล้องถ่ายรูปแคนนอน
Cr: หนังสือ เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง
ทรงทอดพระเนตรการทดลองแพร่ภาพโทรทัศน์สี และการประดิษฐ์เครื่องโทรคมนาคม และทรานซิสเตอร์ บริษัทนิปปอนอิเล็คทริค
Cr: หนังสือ เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง
Cr: หนังสือ เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง
ทรงทอดพระเนตรกิจการที่โรงงานผลิตลูกไม้
ซึ่งในการ ทรงทอดพระเนตรการดำเนินการของอุตสาหกรรมต่างๆ ของญี่ปุ่น ในครั้งนั้น ได้นำมาซึ่งการวางแผนพัฒนาประเทศให้มีความเจริญในด้านเทคโนโลยี โดยไม่ละทิ้งในเรื่องของงานศิลปะหัตกรรม ที่เป็นอาชีพหนึ่งของคนไทย เพื่อวางแนวทางพัฒนาให้เจริญยิ่งขึ้นไป
❀ ปลานิล เชื่อมสัมพันธ์สองแผ่นดิน
ทุกครั้งที่มีการนำเมนูอาหารที่มีปลานิลเป็นส่วนประกอบไปตั้งเครื่องเสวย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปที่อื่น โดยไม่ทรงรับสั่งอะไร จึงมีผู้กล้าสอบถามสาเหตุที่พระองค์ไม่เสวยปลานิลจนได้คำตอบว่า
“ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”
เรื่องนี้มีที่มาซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับราชวงศ์ญี่ปุ่น เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2508 เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารนั้นพระองค์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมีนวิทยาได้ส่งลูกปลาจำนวน 50 ตัวมาทางเครื่องบินเพื่อมอบให้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หลังจากที่ทั้งสองพระองค์ได้ปรึกษาเรื่องที่ประชาชนไทยขาดอาหารโปรตีนราคาประหยัด
ซึ่งลูกปลาเหล่านั้นเหลือรอดชีวิตเพียง 10 ตัวเมื่อเดินทางมาถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงสั่งให้นำไปไว้ในพระที่นั่ง จนลูกปลา 10 ตัวรอดชีวิต และขยายพันธ์ุอย่างรวดเร็วต่อมา
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่าปลานิล เนื่องจากมีสีเทาอมน้ำตาล และมีแถบดำพาดบนลำตัว อีกทั้งยังพ้องกับ Nile Tilapia ชื่อสามัญภาษาอังกฤษอันมีที่มาจากถิ่นกำเนิดปลาชนิดนี้ซึ่งคือลุ่มแม่น้ำไนล์ในทวีปแอฟริกา
ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเพาะเลี้ยง ปรับปรุงพันธุ์ ปลานิลในสวนจิตรลดาให้มีตัวโต เนื้อเยอะ ก่อนส่งต่อให้กรมประมงไปขยายพันธุ์ และแจกจ่ายชาวบ้าน เพื่อเลี้ยงเป็นอาชีพ
เป็นอันว่าแหล่งโปรตีนราคาถูกที่คนไทยนิยมบริโภค มีที่มาจากประเทศญี่ปุ่น และในหลวงของปวงชนชาวไทย นั้น คือคนไทยคนแรกที่เลี้ยงปลานิลนั่นเอง ที่สำคัญยังทรงเลี้ยงอย่างใส่ใจ ในพระที่นั่ง ของพระองค์เองด้วย แสดงถึงความเป็นห่วงปากท้องของราษฎรเป็นอันมาก
สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดไม่ได้
ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงาน chill chill japan
ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก
หนังสือ เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ. 2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง
หนังสือ ตามรอยพ่อ ก-ฮ สำนักพิมพ์สารคดี