อุด้งคืออะไร
เส้นอุด้ง คือเส้นสีขาวนวล มีลักษณะอวบหนา ทำจากแป้งสาลีเช่นเดียวกับราเมง ที่เป็นสีขาวเพราะไม่ได้ใส่คันซุย (Kansui) ซึ่งทำให้ราเมงเป็นสีเหลือง รวมทั้งทำให้อุด้งเนื้อนุ่มกว่า ไม่ยืดหยุ่นเท่าราเมง
อุด้งนิยมทานคู่กับเทมปุระหรือเนื้ออื่นๆ เช่นเดียวกับโซบะ นอกจากเมนูอุด้งเป็นชามๆ แล้ว อุด้งยังนิยมใส่ในนาเบะอีกด้วย
เมนูต่างๆ ของอุด้ง
คาเคะอุด้ง (Kakeudon)
คาเคะอุด้งจะลวกเส้นให้สุกแล้วราดน้ำซุปร้อนๆ ตาม เป็นรูปแบบพื้นฐานของอุด้ง มักไม่ใส่เครื่องมากและโรยต้นหอม
ซารุอุด้ง (Zaru udon)
อุด้งแบบเย็น เหมือนกับซารุโซบะ คือจะเสิร์ฟมาในภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ เวลากินให้จุ่มในสึยุหรือซอสที่ทำจากโชยุ ซึ่งอาจใส่หัวไชเท้าขูด สาหร่าย ต้นหอมและวาซาบิลงไปเพิ่มรสชาติได้ จะทานเปล่าๆ หรือทานคู่กับเทมปุระต่างๆ ก็ได้
คาเรอุด้ง (Kare udon)
อุด้งหน้าแกงกะหรี่ นิยมทานตอนอากาศหนาว อันนี้ต้องสูดระวังๆ หน่อยเพราะเปื้อนง่ายมาก
คาคิอาเกะอุด้ง (Kakiage udon)
คาคิอาเกะ คือการนำวัตถุดิบมาหั่นเป็นเส้นหรือชิ้นเล็กๆ แล้วชุบแป้งทอดเป็นก้อนหรือแผ่น คาคิอาเกะอุด้งจึงหมายถึงอุด้งหน้าของทอด
คิทสึเนะอุด้ง (Kitsune udon)
คิทสึเนะอุด้ง คือ อุด้งหน้าแผ่นเต้าหู้ทอด ชื่อมาจากความเชื่อที่ว่าเต้าหู้ทอดเป็นของโปรดของเทพจิ้งจอกคิทสึเนะ
ทานุกิอุด้ง (Tanuki udon)
อุด้งโรยหน้าแป้งเทมปุระ ซึ่งจะเป็นแป้งเทมปุระเปล่าๆ ไม่มีเนื้อ ปั้นเป็นเม็ดเล็กๆ ทอดจนกรอบ นิยมใส่ไข่และต้นหอมด้วย มีทฤษฎีว่าที่มาของชื่อทานุกินี้มาจากการเล่นคำ การเอาไส้ (ทาเนะ) ออกจากตัวแป้งจนเหลือแป้งเปล่าๆ ในภาษาญี่ปุ่นจะพูดว่า ทาเนะนุกิ (タネ抜き) ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นคำว่า ทานุกิ
สึคิมิอุด้ง (Tsukimi udon)
สึคิมิ หมายถึงการชมจันทร์ จึงหมายถึงอุด้งที่ใส่ไข่แดงดิบซึ่งดูเหมือนพระจันทร์
จิคาระอุด้ง (Chikara udon)
อุด้งที่มีท็อปปิ้งเป็นโมจิ เข้าหลักการเดียวกับยากิโซบะปังคือ แป้งบวกแป้งเท่ากับพลังงาน อุดมคาร์โบไฮเดรตแน่นอนถ้วยนี้
อ่านบทความเกี่ยวกับร้านอุด้งได้ที่นี่
อุด้ง เส้นใหญ่ยักษ์ จากร้านที่เก่าแก่กว่า 400 ปี!
คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าในชามมี อุด้ง อยู่เพียง 1 เส้น! และที่น่าตกใจกว่านั้นคือขนาดของเส้นนั้นมีความหนาถึง 1.5 เซนติเมตร! ร้านเก่าแก่จากยุคเอโดะ Tawaraya