จากความนิยมอันล้นหลามของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหล ไปเที่ยวเกียวโต เมืองอันเต็มด้วยเสน่ห์มนต์ขลังที่โดดเด่นทั้งสถาปัตยกรรม รูปแบบเมือง และวัฒนธรรมที่ยังคงเอกลักษณ์เอาไว้ได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกใจที่เกียวโตนั้นนั่งบัลลังก์เมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งมาแล้วสองปีซ้อน ด้วยเหตุนี้ tripadvisor.jp เว็บท่องเที่ยวชื่อดังจึงเผยแพร่ 『AKIMAHEN of Kyoto』ข้อมูลมารยาท และสิ่งที่ไม่ควรทำที่เกียวโต จำนวน 19 ข้อ (Akimahen เป็นภาษาท้องถิ่นของเกียวโต แปลว่าห้ามนะ หรือ ไม่ได้นะ) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาก่อนไป มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
แม้ว่าชาวญี่ปุ่นจะสูบบุหรี่กันมาก แต่ก็ต้องสูบในโซนที่จัดไว้ ทีีสำคัญการสูบบุหรี่ด้านนอกในพื้นที่สาธารณะเป็นข้อห้าม ใครฝ่าฝืนเตรียมค่าปรับไว้ เพราะหากถูกจับได้จะถูกปรับ 1,000 เยน
การขอไมโกะถ่ายภาพต้องทำอย่างสุภาพ
ไมโกะซัง (maiko) คือ หญิงสาวในชุดกิโมโน ผู้ที่เตรียมตัวเป็นเกอิชา นี่คืออีกหนึ่งเสน่ห์ของเกียวโต หากเราอยากถ่ายภาพจะต้องทำอย่างสุภาพ และห้ามรบกวนอย่างไม่สุภาพ เช่นเรียกให้หยุดตอนที่เค้ากำลังเดิน (อาจกำลังรีบหรืออยู่ระหว่างหน้าที่) หรือดึงชายเสื้อกิโมโนเพื่อให้หยุดถ่ายรูปด้วย
ไม่ต้องให้ทิป
ด้วยความที่ญี่ปุ่นไม่มีทำเนียมการให้ทิป ดังนั้นเมื่อประทับใจการบริการใดๆ ที่เกียวโตล่ะก็เพียงแค่ขอบใจแบบเกียวโตว่า “Ookini” (โอคินิ) ก็พอแล้ว
เมื่อขึ้นแท็กซี่อย่ายืนชิดจนกว่าประตูจะเปิด
เนื่องจากประตูแท็กซี่ญี่ปุ่นนั้นเปิดปิดเองได้ ดังนั้นเมื่อขึ้นลงแท็กซี่ไม่ต้องเปิดเอง ที่สำคัญตอนขึ้นแท็กซี่เว้นระยะห่างจากรถด้วย จะได้ไม่โดนประตูกระแทก
ห้ามใส่รองเท้าเดินบนเสือทาทามิ
ก่อนเดินบนเสื่อทาทามิ (เสื่อสีน้ำตาลๆ ทำจากต้นกก ใช้ปูภายในบ้านหรือศาลเจ้า) ควรถอดรองเท้าออกก่อน และเพื่อมารยาทอันดีสลิปเปอร์(รองเท้าใส่ในบ้าน)ก็ต้องถอดก่อนเหยียบเสื่อด้วย
ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราด
นอกจากต้องทิ้งขยะให้เป็นที่ควรแยกขยะก่อนทิ้งด้วย เพื่อคงความเป็นเป็นที่สวยงามไร้ความสกปรก แต่ถ้าอยากลองทิ้งเรี่ยราด เตรียมเิงไว้เพราะคุณจะโดนปรับถึง 30,000 เยนทีเดียว
ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มไปทานในร้านอาหาร
นับเป็นกฏพื้นฐานเลยเพราะการนำอาหารและเครื่องดื่มจากข้างนอกเข้าไปทานในร้านอาหารนับเป็นการเสียมารยาทเป็นอย่างมาก นี่ยังรวมไปถึงการพกน้ำปลา น้ำจิ้มซีฟู๊ดไปทานกับอาหารในร้านด้วยนะ
เข้าแถวรอคิวอย่างเป็นระเบียบ
ระหว่างการรอใช้บริการ หรือรอคิวร้านอาหาร การต่อแถวรอคิวต้องต่อให้ถูกทิศทาง เป็นระเบียบ ไปทางเดียวกัน ห้ามแซงคิว ห้ามลัดคิว รออย่างอดทนเดี๋ยวก็ถึงคิวแล้ว
ห้ามยกเลิกการจองร้านอาหารกะทันหัน
การจองที่นั่งในร้านอาหาร แล้วยกเลิกกระทันหัน หรือไม่มาเอาดื้อๆ นับเป็นการเสียมารยาทเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ทางร้านเสียโอกาสด้านรายได้ และอาจทำให้คนอื่นที่อยากใช้บริการจริงๆพลาดโอกาสโดยใช่เหตุด้วย
เมาไม่ปั่น
ปกติเราคุ้นชินกับคำว่าเมาไม่ขับ แต่ที่เกียวโตเค้ายังมีกฏว่าเมาไม่ปั่นด้วยนะ กฎหมายการว่าขับขี่จักรยานในขณะมึนเมานั้นมีโทษรุนแรงเมื่อถูกจับ คุณมีสิทธิ์ถูกปรับสูงสุด 1,000,000 เยนหรือจำคุกไม่เกินห้าปีเลยทีเดียว
เว้นที่นั่งสำรอง
ที่นี่งสำรอง หรือ Priority Seat (優先席) ถูกจัดไว้ให้เฉพาะกับผู้พิการ ผู้ที่เดินทางกับเด็ก สตรีมีครรภ์ และคนชรา จึงไม่ควรไปนั่งปล่อยให้คนที่จำเป็นใช้จะดีกว่า
ดูแลความสะอาดห้องน้ำหลังใช้งาน
กรุณารักษาความสะอาดในการใช้สุขา และช่วยดูแลความสะอาดหลังเสร็จธุระ กฏข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นที่มาของความสะอาดเอี่ยมของห้องน้ำสาธารณะที่ญี่ปุ่นเลยทีเดียว อย่าเผลอเหลือซากอารยธรรมไว้ให้คนอื่นหลอนเชียวนะ
อย่าเดินเกะกะขวางทาง
Cr: Studio Incendo
เนื่องจากในเมืองเกียวโตมีอาจมีทางเดินบางส่วนที่ค่อนข้างแคบ เวลาเดินจึงควรเว้นพื้นที่ไว้ให้ผู้อื่นใช้ทาง ไม่เดินเรียงหน้ากระดานหรือยืนเกะกะ
ห้ามจอดจักรยานขวางทาง
ควรจอดจักรยานในที่สำหรับจอดเท่านั้น หากจอดขวางถนนหนทาง จะมีคุณตำรวจมาเก็บไป จะต้องจ่ายค่าปรับ 2,300 เยน กรณีถ้าเป็นจักรยานเช่า นอกจากจะเสียค่าปรับเพราะจอดไม่เป็นที่แล้ว เตรียมโดนชาร์จค่าปรับที่ส่งจักรยานคืนช้าอีก โดนไปเต็มๆ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสอาคารหรือวัตถุโบราณ
โบราณสถานหรือวัตถุโบราณส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ และเสียหายได้ง่ายมาก การแตะต้องอาจจะทำพังได้ แม้จะดูเล็กน้อยแต่ทุกสิ่งนับเป็นสมบัติชาติที่ต้องถนอมไว้
ห้ามถ่ายรูปใกล้รางรถไฟ
ระวังอย่าถ่ายรูปใกล้รางรถไฟ โดยเฉพาะสถานี Fushimi-Inari ของรถไฟสาย Keihan เพราะแม้ว่าเป็นทำเลถ่ายรูปรถไฟที่สวยมาก แต่ไม่คุ้มกับการเอาชีวิตไปเสี่ยง
ห้ามถ่ายภาพในจุดห้ามถ่ายตามวัดและศาลเจ้า
บางพื้นที่ของศาลเจ้าและวัดบางแห่งห้ามถ่ายรูป และใช้แฟลช ต้องสังเกตป้ายให้ดี
ถอดหมวกและแว่นกันแดดออกเมื่ออยู่ในศาลเจ้าและวัด
นับเป็นการให้ความเคารพต่อสถานที่ นอกจากนี้คือถ้าใส่หมวกใส่แว่นดำเข้าไป อาจทำให้คนอื่นๆ ที่กำลังเยี่ยมชมสถานที่เดียวกันรู้สึกอึดอัดได้ ประมาณว่ามีบุคคลน่าสงสัยมาอยู่ใกล้ๆ ในพื้นที่ที่ต้องการความสงบ จึงควรระวังในจุดนี้ด้วย
อยู่ในความสงบขณะท่องเที่ยวตามวัดหรือศาลเจ้า
ศาลเจ้าและวัดส่วนใหญ่ที่คุณไปเยือนนั้นมีอายุมากกว่า 1,000 ปี ดังนั้นจึงควรให้ความเคารพ และปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม
ข้อมูล
เวลาไปต่างแดนย่อมต้องศึกษาวัฒนธรรม ขนบและกติกาต่างๆ เอาไว้ ไม่ควรอ้างคำว่าไม่รู้แล้วทำผิดกติกา นอกจากนี้การ หลิ่วตาตาม ย่อมทำให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างดี ไม่ทำอะไรโป๊ะๆ ให้เขินอายอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก tripadvisor.jp และรูปประกอบจาก youtube.com