เคยได้ยินประสบการณ์จากคนรอบตัวไหมว่า ทีแรกก็มีเพื่อนสนิทอยู่ดีๆ แต่เมื่อไปเที่ยวกับเพื่อน (หากระหว่างทริปเกิดปัญหากัน) พอจบทริปก็จะมองหน้ากันไม่ติด หรือบางคนอาจจะเลิกคบกันไปเลย แถมคนที่เคยมีประสบการณ์นี้ยังมีจำนวนไม่น้อยเลยด้วย ฟังแล้วก็เศร้าใจแทน ไม่อยากให้เกิดกับตัวเองและเพื่อนๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วจะต้องเสียเพื่อนไปซะหมดหรอกนะ ไปเที่ยวกับเพื่อนทั้งที ใครๆก็คาดหวังให้เป็นทริปที่สนุกสนานเฮฮา และเต็มไปด้วยความทรงจำที่ดี หากไม่อยากให้ทริปล่มเพราะปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนในทริป เราก็มีวิธีการจัดการทริปของคุณและแก๊งเพื่อนมาแนะนำดังนี้
กำหนดวันเวลา จำนวนคน และความสนิทสนม
Step แรกของการเริ่มต้นในแต่ละทริปคือ เมื่อรู้สถานที่ วันเวลา รวมถึงค่าใช้จ่ายคร่าวๆแล้ว ต้องคอนเฟิร์มทั้งชื่อ และจำนวนคนที่จะไป แนะนำว่าควรชวนแค่เพื่อนที่สนิทหรือรู้จักกันทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดการเกร็งกัน อาจจะทำให้ทริปกร่อยเพราะมัวแต่เกรงใจกันได้ บุคคลประเภท แฟนของเพื่อน เพื่อนของเพื่อน ขอให้พอสไว้ก่อน เพราะทริปนี้เฉพาะกิจสำหรับเพื่อนสนิทเท่านั้น !
สิ่งที่สำคัญที่สุดช่วงเวลานี้คือ ต้องบิ๊ลด์บ่อยๆ ให้ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา อาจจะมีการนัดธีมเครื่องแต่งกาย แชร์สถานที่ท่องเที่ยวสวยๆที่คาดว่าจะไปในทริป อย่าปล่อยให้ห่างหายไปก่อน เพราะเพื่อนบางคนอาจเกิดความลังเล และโบกมือลาขอแคนเซิลไปได้ ทำให้ต้องมาวางแผนกันใหม่ เลวร้ายที่สุดคือทริปล่ม ! ไม่ได้ไปไหนกันสักที
วางแผนร่วมกัน
ยิ่งจำนวนคนในทริปเยอะ ความต้องการก็เพิ่มขึ้น ต่อให้เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน แต่สไตล์การท่องเที่ยวอาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด บางคนอยากไปดูธรรมชาติ ไหว้พระ บางคนชอบช้อปปิ้งในเมือง ตะลุยกินอาหารร้านดัง เพราะฉะนั้นควรมานั่งรวมพลวางแผนการท่องเที่ยวร่วมกัน อาจจะกำหนดว่าวันนี้ไปสถานที่แบบนี้ อีกวันนึงไปสถานที่อีกแบบนึง เพื่อให้ได้ท่องเที่ยวแบบหลากหลาย และถูกใจทุกคนในทริป
ไม่ควรปล่อยให้ใครสักคนหนึ่งเป็นคนจัดการ เพราะอาจจะมีคนไม่พอใจแพลนการเที่ยว แล้วจะเกิดปัญหาทีหลังได้ ควรช่วยกันวางแผนที่ดีที่สุด เพื่อจะได้บอกความต้องการของตัวเอง แต่หากว่ากลุ่มของคุณมีนักวางแผน ที่สามารถเชื่อมือได้ และมักจะเป็นคนจัดทริปสนุกๆ ถูกใจเพื่อนๆ ทุกครั้งก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขาได้เลย แต่ก็ต้องมีการตกลงกันด้วยว่า จะไม่มีการมาวีนกันทีหลังนะจ๊ะ
จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน
เรื่องเงินเรื่องใหญ่ และมันจะใหญ่ขึ้นมากเมื่อเกี่ยวกับคนที่สนิท ซึ่งก็คือเพื่อนๆ นี่แหละ คุณและเพื่อนต้องวางแผนและสรุปค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน หรือหากมีเพื่อนคนไหนที่ทำงานและถนัดเกี่ยวกับด้านการทำบัญชี ก็อาจจะให้รับผิดชอบหน้าที่นี้ไปเลยก็ได้ ไม่ว่าจะค่าตั๋วเครื่องบิน , ที่พัก , การเดินทาง , ส่วนตัวอื่นๆ คิดว่าค่าใช้จ่ายในทริปนั้น ส่วนใหญ่อาจจะใช้วิธีหารเพื่อให้ได้ราคาที่เท่าๆกัน ซึ่งก็เป็นวิธีที่แฟร์ดี แต่อีกวิธีหนึ่งที่อยากแนะนำด้วยคือ อเมริกันแชร์ คือต่างคนต่างจ่าย รับผิดชอบตัวเองไปเลย เพื่อป้องกันปัญหาเพื่อนที่มีเงินสดไม่พอ ไม่มีแบงค์ย่อย แล้วต้องหยิบยืมกันระหว่างทริป เพื่อนบางคนลืมคืน แล้วอาจจะเกิดการผิดใจกันเปล่าๆนะ
สร้างข้อตกลงที่ทุกคนยอมรับได้
ควรจะมีข้อตกลงกันในทริปเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิด เช่น สามารถแยกกันเที่ยวได้ หากใครมีที่ๆอยากไปเป็นพิเศษ ต่อให้วางแผนท่องเที่ยวกันไปแล้ว แต่ถ้ามีใครที่ไม่สนใจสถานที่ในแพลนจริงๆ ทั้งยังต้องเสียเงินเข้าไปทั้งๆที่ไม่ชอบ ก็สามารถแยกไปเดินเที่ยวเล่นรอเวลาได้ อาจจะไปช้อปปิ้ง หรือนั่งรอร้านกาแฟได้ตามใจ เพื่อนกันก็ไม่ต้องตัวติดกันไปตลอดทั้งทริปก็ได้จริงไหม หลังจากนั้นก็ค่อยนัดเวลาและจุดนัดพบกันอีกทีก็ได้
ไม่ควรรับฝากของมีค่าจากเพื่อนคนอื่น แนะนำว่าเจ้าตัวควรดูแลเองจะดีที่สุด เพราะหากเกิดการสูญหายหรือชำรุดมาก็จะทำให้เกิดการทะเลาะกันเปล่าๆ และที่สำคัญต้องรักษาเวลา เพื่อที่จะได้เที่ยวไปตามแพลนที่วางไว้ เพื่อนบางคนอาจจะอยากไปสถานที่นี้มากๆ แต่ก็ต้องพลาดแค่เพราะมีเพื่อนบางคนตื่นสาย เพราะฉะนั้นยิ่งสนิทกันยิ่งต้องเกรงใจกัน ไม่ควรให้เพื่อนคนอื่นต้องรอ แต่อาจจะมีการยืดหยุ่นได้บ้างหากมีเหตุจำเป็นจริงๆ
เตรียมตัวให้พร้อม ไม่ให้เป็นภาระผู้อื่น
การเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องที่ควรทำมากที่สุด ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ เงินสดต่างๆ ควรแลกไปให้เรียบร้อย ใครมีโรคประจำตัวก็พกยาเตรียมไปด้วย แต่ถึงแม้จะเตรียมตัวดียังไงก็คงมีโอกาสพลาดกันได้บ้าง อาจจะสามารถหยิบยืมเพื่อนได้นิดหน่อย แต่ถ้าไม่อยากให้เพื่อนรำคาญเพราะปัญหาจุกจิกก็ซื้อเอาใหม่จะดีกว่า นอกจากนี้ไม่ควรเตรียมของไปเยอะจนเกินน้ำหนักกระเป๋าของตัวเอง แล้วไปเบียดใช้น้ำหนักกระเป๋าของเพื่อน ไม่เอาไม่ดีนะ
นอกจากสิ่งของที่ต้องเตรียมไปแล้ว เพื่อนๆทุกคนควรจะรู้แพลนเที่ยว และจดจำได้แบบคร่าวๆ ว่าจะไปที่ไหน เดินทางอย่างไร เผื่อว่าหลงระหว่างทางจะได้รู้ว่าต้องเดินทางต่อยังไง การจดจำวิธีการเดินทางและสถานที่ จะได้ช่วยกันดูป้าย หรือหาข้อมูลได้ด้วย ไม่ควรปล่อยให้เพื่อนคนเดียวเป็นคนจัดการ
มีปัญหาอะไรต้องแชร์และช่วยเหลือกัน
ถึงแม้ว่าตลอดทริปนั้น เราจะแนะนำให้รับผิดชอบและช่วยเหลือตัวเอง แต่ด้วยความเป็นเพื่อน อะไรที่สามารถช่วยเหลือได้ก็ควรจะช่วย ยิ่งไปเที่ยวต่างแดน บางคนอาจจะไม่ชินและเจอความลำบาก ควรแสดงความมีน้ำใจต่อเพื่อน ถ้าเพื่อนลากกระเป๋าหนัก หรือขนของเยอะ ก็ยื่นมือเข้าไปช่วยบ้าง หรือเพื่อนเจ็บป่วยก็คอยดูแล อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเพื่อนแท้
และที่สำคัญ หากในระหว่างทริปมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่พอใจ เราควรจะบอกเพื่อนตามตรงเพื่อให้ได้ช่วยกันแก้ไข ไม่ควรเก็บไว้คนเดียว หรือหากทำให้เพื่อนไม่สบายใจก็ควรจะรีบขอโทษและปรับความเข้าใจกัน เพื่อไม่ให้ทริปกร่อย และจะพาลเก็บความโกรธกลับมาเสียเปล่าๆ
วางแผนสำรอง
ในทริปควรจะมีเพื่อนที่เป็นผู้นำ และสามารถตัดสินใจแทนทุกคนได้ อาจจะเป็นคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องการวางแผนเที่ยว ให้ช่วยกันคิดแผนสำรองเอาไว้ ในกรณีมีเพื่อนยกเลิกกะทันหันด้วยเหตุผลที่จำเป็นจริงๆจะต้องปรับแพลนยังไง , มีการเจ็บป่วยระหว่างทริป ควรทำอย่างไร , มีคนทำของมีค่าสูญหายต้องไปแจ้งที่ไหน เพื่อไม่ให้ลนและอารมณ์เสียในสถานการณ์จริง อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในทริป แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว อย่าโทษว่าเป็นความผิดของใคร ควรช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ดีที่สุด
ข้อสรุป
เพื่อนดีๆที่มีอยู่ข้างๆตัวตอนนี้ อยากให้เป็นเพื่อนที่ไปเที่ยวด้วยกันได้จนแก่ อยากรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่แบบนี้ตลอดไป ดังนั้นการไปเที่ยวกับเพื่อนไม่ว่าทริปไหนๆ ควรใส่ใจความรู้สึกของกันและกัน มีปัญหาก็ช่วยเหลือกัน จะได้เป็นทริปที่ได้รอยยิ้มและเพื่อนซี้คนนี้กลับมาเสมอไงล่ะ 🙂