รู้ไว้อุ่นใจ เบอร์ฉุกเฉิน ญี่ปุ่น เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด !

20/02/2019 (อัพเดทเมื่อ 15/07/2024)
เชื่อว่าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ หลาย ๆ คนคงจะจินตนาการถึงแต่ความสนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับวิวทัวทัศน์ของต่างเมือง ช้อปปิ้งอย่างสุดเหวี่ยง ถ่ายภาพกันแบบเมามัน แต่น้อยคนนักที่จะนึกถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันระหว่างทริป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ทำสิ่งของหล่นขาย หรือแม้แต่โดนตำรวจจับที่ต่างประเทศ ! ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ขึ้น ควรจะต้องทำยังไงดีล่ะ

K1-banner 2024 SEP

Cr: Alex Martinez

Cr: StockSnap

การท่องเที่ยวที่ต่างประเทศนั้น ใครๆก็คาดหวังให้เป็นทริปที่มีแต่ความสุข ความสนุก ได้ไปเที่ยวที่ ๆ อยากไป ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ได้ทานอาหารอร่อย ๆ และจบทริปอย่างสมบูรณ์แบบ แต่คงไม่ค่อยมีใครเผื่อใจว่าจะเกิดเหตุการ์ฉุกเฉินขึ้นอย่างแน่นอน บางคนหากรอบคอบหน่อย ก็อาจจะซื้อประกันการเดินทางจากบริษัทประกัน หรือจากสายการบินไว้ก่อน

Cr: rawpixel

แต่ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินบางอย่างก็อาจจะทำให้ไม่สามารถติดต่อบริษัทประกันได้อย่างทันท่วงที หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ครอบคลุมในประกันนั้น ๆ ยิ่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างน้อยแล้วล่ะก็ ถือว่าเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราเลยล่ะ

Cr: Chris Barbalis

ก่อนอื่นเราขอให้คุณตั้งสติ และวางแผนหาทางออกและแก้ไขสถานการณ์อย่างเป็นขั้นตอน วันนี้เราจะเป็นฮีโร่ขี่ม้าขาวมาช่วยคุณเอง ไปดูกันว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้แล้ว คุณควรติดต่อไปที่ไหน และควรรับมืออย่างไรกันบ้าง

กรณีเกิดอุบัติเหตุ

หากคุณทำประกันการเดินทางเอาไว้แล้ว ให้ติดต่อบริษัทประกันของคุณ เพื่อสอบถามว่าต้องติดต่อใคร หรือต้องไปที่โรงพยาบาลไหน แต่หากไม่มีประกัน ควรทำตามขั้นตอนดังนี้

1. ขอความช่วยเหลือจากคนญี่ปุ่นบริเวณนั้น หรือตำรวจ โดยใช้คำว่า ‘tasukete kudasai’ (รบกวนขอความช่วยเหลือ)

2. หาคลินิกหรือร้านขายยาที่ใกล้ที่สุด

3. โทร 119 สำหรับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ และเหตุดับเพลิงต่าง ๆ (เบอร์พวกนี้สามารถโทรจากเครือข่ายไหนก็ได้ ระบบใดก็ได้ ฟรีทั่วประเทศ แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้)

4. หากต้องการเรียกรถพยาบาล ให้ยื่นข้อความ 救急車を呼んでください ให้กับคนญี่ปุ่น หรือพูดว่า kyu kyu sha o yonde kudasai

5. หากไม่สามารถสื่อสารกับปลายสายได้ ขอให้คนญี่ปุ่นบริเวณนั้นช่วยอธิบายสถานการณ์ และสถานที่ให้

6. เมื่อถึงโรงพยาบาล หาหมอ หรือบุคลากรในโรงพยาบาลที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ เพื่อติดต่อเกี่ยวกับการรักษา หรือส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการชาวต่างชาติ เช่น

  • American Clinic Tokyo เป็นคลีนิคที่ให้บริการชาวต่างชาติโดยตรง แต่อาจจะต้องมีการโทรศัพท์นัดเวลาเข้าตรวจก่อน
  • ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สถานพยาบาลนานาชาติแอมด้า (AMDA) เป็นศูนย์บริการข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลทางโทรศัพท์ นอกจากนั้นยังสามารถแนะนำสถานพยาบาลและการแพทย์ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศได้อีกด้วย
  • Tokyo Metropolitan Health and Medical Information Center (โตเกียวฺฮิมาวาริ) สอบถามข้อมูลทางการแพทย์ญี่ปุ่น โทร 03-5285-8181 และล่ามทางการแพทย์ฉุกเฉิน 03-5285-8185
  • คู่มือเมื่อเกิดการเจ็บป่วยในประเทศญี่ปุ่น >>>> คลิกที่นี่

    กรณีทำพาสปอร์ตหาย

    ทบทวนความจำ ว่ามีความเป็นไปได้ว่าลืมไว้ที่ไหน เช่น สถานีรถไฟ ร้านอาหาร หรือโรงแรม ซึ่งหากมั่นใจว่าลืมไว้ที่ไหนควรไปสอบถามดู เพราะอัตราการได้รับของคืนที่ญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างสูง ถ้าทำหายที่สถานีรถไฟ ควรไปสอบถามที่ แผนก Lost and Found หรือที่เคาท์เตอร์ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่

    แต่ถ้าไม่ได้ทำหายที่สถานี ลองขอความช่วยเหลือจากป้อมตำรวจ หรือ KOBAN ดู เพราะหากมีชาวญี่ปุ่นเก็บของได้ มักจะนำไปให้ตำรวจ แต่หากนึกไม่ออก หรือลองไปตามหาแล้วไม่พบสิ่งของ ควรปฎิบัติดังนี้

    1.ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลฯ เพื่อสอบถามถึงเอกสารที่ต้องใช้ในการทำพาสปอร์ตชั่วคราว และช่วงเวลาที่สามารถเข้าไปทำการได้

  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว โทร 03-5789-2449
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา โทร สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ โทร 092-686-8775

  • 2.เตรียมหลักฐานสำเนาเอกสารแสดงตัวบุคคลของไทย ได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทาง หรือสำเนาบัตรประชาชนไทย หรือสำเนาทะเบียนบ้านไทย (แนะนำว่าก่อนเดินทางควรถ่ายสำเนาเอกสารพวกนี้พกติดตัวไว้ด้วย เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินแบบนี้ยังไงล่ะ)

    3.ใบแจ้งความ (เคซัทซึโชเม 警察証明) ออกโดยสถานีตำรวจญี่ปุ่น และต้องกรอกข้อมูลภาษาอังกฤษ เพื่อให้ได้ใบแจ้งความ

    4.เตรียมรูปถ่ายสี ขนาด 4×4 ซ.ม. จำนวน 3 รูป สามารถถ่ายได้ตามตู้ถ่ายรูปแถวสถานีรถไฟ หรือที่อยู่ใกล้ ๆ ตู้ขายน้ำอัตโนมัติ หรือในร้านสะดวกซื้อ เลือกขนาดที่ใกล้เคียง จัดทรงผมให้ดี ให้เห็นใบหน้าชัดเจน

    5.เตรียมเอกสารจองบัตรโดยสารเครื่องบินกลับประเทศไทย

    6.เดินทางไปสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลฯ (สามารถทำเรื่องได้ในวันจันทร์-ศุกร์เท่านั้น ควรเดินทางมาสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือ สถานกงสุลฯ ในช่วงเวลา 09.00 – 12.00 น. เพื่อที่จะสามารถรับพาสปอร์ตชั่วคราว หรือ หนังสือสำคัญประจำตัว (CI) ได้ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 9,000 เยน)

    * ในกรณีที่พาสปอร์ตหายในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ไม่สามารถติดต่อทำพาสปอร์ตชั่วคราวที่สถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลฯได้ ให้จัดการเลื่อนตั๋วเครื่องบิน จองที่พักเพิ่มให้เรียบร้อย และเตรียมเงินสำรองเอาไว้ด้วย

    กรณีรถเสีย / รถเกิดอุบัติเหตุ

    ในบางทริปที่เดินทางลำบาก คุณอาจจะเช่ารถตามบริษัทเช่ารถต่าง ๆ ที่มีในญี่ปุ่น หรือเช่าจากสนามบิน แต่ด้วยความที่ไม่ชินเส้นทาง หรือรถที่ขับนั้นไม่ชินมือ ก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ง่าย หรือในกรณีรถเสีย ก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องทำยังไงดี

  • ในกรณีรถเสีย

  • 1.นำรถจอดข้างทาง เพื่อความปลอดภัย และไม่กีดขวางรถคันอื่น จากนั้นเปิดไฟฉุกเฉินทิ้งไว้

    2.ไม่ควรลองซ่อมรถเอง เพราะหากเกิดความเสียหายหนักขึ้น เราอาจจะต้องเสียค่าปรับเพิ่ม

    3.โทรเรียกประกัน ตามเบอร์ที่บริษัทเช่าหรือให้มา หรือโทรหาบริษัทเช่ารถ เพื่อแจ้งสถานการณ์และจุดที่รถเสีย

  • ในกรณีรถเกิดอุบัติเหตุ

  • 1.หากไม่สามารถเคลื่อนย้ายรถได้ ให้เปิดไฟฉุกเฉินไว้

    2.หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บให้โทรติดต่อเบอร์ 119 สำหรับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ หากกังวลว่าจะสื่อสารไม่รู้เรื่อง ให้ทางบริษัทเช่ารถติดต่อรถพยาบาลให้แทน

    3.โทรเรียกประกัน ตามเบอร์ที่บริษัทเช่าหรือให้มา หรือโทรหาบริษัทเช่ารถเพื่อแจ้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

    กรณีโดนตำรวจจับ

    ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่ามีความปลอดภัยสูงมากก็จริง แต่การโดนตำรวจเรียกในต่างประเทศคงเป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับนักท่องเที่ยวน่าดู บางครั้งอาจจะเกิดการความเข้าใจผิด โดนกล่าวหา โดนต้มตุ๋น หรืออาจจะไม่มีอะไรเลย เพียงแค่โดนสุ่มเรียกตรวจเท่านั้น อย่างแรกที่อยากย้ำเสมอคือให้ “ตั้งสติ” เมื่อเรามั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎระเบียบ หรือกฎหมายของที่นั้นจริง ๆ ค่อย ๆ สื่อสารให้เข้าใจว่าทางเจ้าหน้าตำรวจต้องการอะไร

    1.ห้ามตามตำรวจไปที่ป้อมตำรวจ หรือสถานีเด็ดขาด ! เพราะไปที่สถานีกับเค้า ถือว่าเรายอมรับกลายๆ ว่าสิ่งที่เราโดนกล่าวหานั้นเป็นเรื่องจริง และเค้าอาจจะบังคับให้เราสารภาพในข้อหาที่เราไม่ได้ทำ และที่สำคัญห้ามเซ็นเอกสารอะไรทั้งนั้น

    2.แสดงบัตรประจำตัว หรือพาสปอร์ต หรือให้เบอร์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไป

    3.หากสื่อสารไม่เข้าใจ ให้ติดต่อไปที่โรงแรม ที่พักของคุณ หรือคนรู้จักในประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ช่วยสื่อสาร และยืนยันความบริสุทธิ์ของคุณ

    4.ใช้ application แปลภาษาเพื่อสื่อสาร

    5.หากไม่สามารถติดต่อที่พักได้ ให้ติดต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลฯ

  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว 03-5789-2433
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา 06-6262-9226,9227 (เวลารับโทรศัพท์ 15.30 น. – 17.30 น.)
  • สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ 092-686-8775

  • 6.ทำตัวปกติ ไม่หงุดหงิด ไม่โวยวาย และเข้าใจการปฎิงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

    ข้อสรุป

    อย่างไรก็ตาม เพื่อการท่องเที่ยวในต่างประเทศอย่างราบรื่น ควรจะมีสติ และความรอบคอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ขึ้น นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังอาจจะต้องเสียเงินที่เก็บไว้ใช้ท่องเที่ยวอีกด้วยนะ เพื่อความอุ่นใจ ไม่ว่าจะไปจังหวัดเล็ก จังหวัดใหญ่ เมืองหลวง หรือชานเมือง ควรทำประกันการเดินทางไว้ เมื่อมีปัญหาฉุกเฉินขึ้นมา จะได้มีผู้ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือได้โดยไม่ต้องปวดหัวให้เสียทริป !

    Morning Kids

    Blogger : Morning Kids

    นัก(ฝึก)เขียนที่ใช้ชีวิตที่เกียวโต 2 ปี ปัจจุบันตัวอยู่ออฟฟิศจิตอยู่ดาวพุธ เลี้ยงชิวาว่าหน้าประหลาด นับถือศาสนาหม่าล่า และรักการกินส้มตำปูม้าเจ๊ไก่

    62 Posts

    สถานที่เที่ยว

    | Feature

    กรณีฉุกเฉิน

    | Emergency
    • Police

      110

    • Ambulance

      119

    • AMDA International Medical Information Center

      03-6233-9266

    • สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว

      090-4435-7812

    • สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซาก้า

      090-1895-0987

    • สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟุกุโอกะ

      090-2585-3027 หรือ 090-9572-1515