ความใฝ่ฝันของนักช้อปชาวไทยหลายคนคือการบินลัดฟ้าไปช้อปปิ้งด้วยตัวเองที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนม เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา กล้อง และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่น่าซื้อน่าช้อปด้วยกันทั้งนั้น แต่ละคนกลับมาถึงกับกระเป๋าสตางค์แฟ่บต้องทำงานเก็บเงินกันใหม่ยกใหญ่เลยทีเดียว แต่ก็ถือเป็นความสุขใจที่ได้ช้อปนี่นา ใครจะไปอดใจไหว
ถ้าตั้งใจจะไปญี่ปุ่นเพื่อช้อปปิ้งแล้วล่ะก็สิ่งที่ต้องรู้นอกเหนือไปจากความต้องการของตัวเองแล้ว เราจะต้องเข้าคลาสเรียนวิชาการทำ Tax Refund ญี่ปุ่น ด้วยนะ เพราะเมื่อเราผันตัวเองมายึดอาชีพนักช้อปแบบเต็มตัวแล้วก็ย่อมต้องเสียเงินเยอะมากเช่นกัน และการทำเรื่องขอคืนภาษีจะช่วยทำให้เราประหยัดเงินไปได้ประมาณหนึ่งเลยล่ะ เพราะอัตราภาษีของสินค้าในประเทศญี่ปุ่นนั้นสูงถึง 10% ทีเดียว
สินค้าใดบ้างที่เราขอคืนภาษีได้
สินค้ามากมายหลายประเภทที่วางจำหน่ายอยู่ในประเทศญี่ปุ่นที่เราสามารทำเรื่องขอคืนภาษีได้นั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
สินค้ากลุ่มที่ 1
สินค้ากลุ่มที่ 1 : ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง อาหาร และเครื่องดื่มเงื่อนไข : จะต้องซื้อสินค้าภายในร้านเดียวกันรวมมูลค่าตั้งแต่ 5,001 เยนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 500,000 เยน (คำนวณจากราคาสินค้าแต่ละชิ้นที่รวมภาษีแล้ว)
สินค้ากลุ่มที่ 2
สินค้ากลุ่มที่ 2 : สินค้าคงทนจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า กล้อง กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า และอื่น ๆเงื่อนไข : จะต้องซื้อสินค้าภายในร้านเดียวกันรวมมูลค่าตั้งแต่ 10,001 เยนขึ้นไปแต่ไม่เกิน 500,000 เยน (คำนวณจากราคาสินค้าแต่ละชิ้นที่รวมภาษีแล้ว)
ขอคืนภาษีที่ร้านทั้ง 3 แบบ
การทำ Tax Refund ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ โดยจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละร้านค้า และจะมีแบบใดบ้างนั้นเราไปดูกันเลยค่ะ
แบบที่ 1 : เก็บใบเสร็จแล้วค่อยทำรวดเดียวจบ
แบบแรกจะพบได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปในญี่ปุ่นที่มีสัญลักษณ์ Tax Free จะเป็นการทำเรื่องขอคืนภาษีแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งในการชำระเงิน เราสามารถเดินช้อปปิ้งสินค้าจากหลายร้านของห้างได้แต่จะต้องทำการเก็บใบเสร็จไว้ทุกครั้งเพื่อนำไปทำเรื่องขอคืนภาษีที่เคาน์เตอร์ที่อยู่ภายในห้างแบบรวดเดียวจบ ซึ่งราคาที่จ่ายไปจะเป็นราคาเต็มของสินค้าที่รวมภาษีแล้วและจะได้คืนเมื่อทำเรื่องขอคืนภาษีเสร็จเรียบร้อย
แบบที่ 2 : ชำระเงินก่อนแล้วค่อยขอคืนภาษี
แบบที่สองจะคล้ายกับแบบแรกเพียงแต่จะเป็นร้านที่เราซื้อสินค้าและชำระเงินภายในครั้งเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่ค่อนข้างใหญ่ เช่น ดองกี้หรือตึกม่วง Takeya ซึ่งมีสินค้าจำนวนมากและหลากหลายทำให้เราสามารถช้อปปิ้งได้จบภายในที่เดียวเลยนั่นเอง เมื่อชำระเงินที่แคชเชียร์เรียบร้อยแล้วก็เดินไปต่อที่เคาน์เตอร์ขอคืนภาษีได้เลยค่ะ
แบบที่ 3 : ชำระเงินและขอคืนภาษีในครั้งเดียวจบ
แบบสุดท้ายนี้จะเป็นร้านที่เราสามารถช้อปปิ้ง ชำระเงิน และทำเรื่องขอคืนภาษีได้ในครั้งเดียวจบ ไม่ต้องไปยืนต่อคิวสองรอบ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าขนาดเล็กอย่างเช่น Sundrugs และ Matsumoto Kiyoshi ถือเป็นรูปแบบการขอคืนภาษีที่สะดวกมาก ๆ
วิธีการดำเนินเรื่องการขอคืนภาษี
1. มองหาสัญลักษณ์ Tax Free ตามร้านค้าให้เจอเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเป็นร้านที่สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้
2. พุ่งตัวเข้าไปยังร้านเป้าหมาย จากนั้นก็เริ่มช้อปปิ้งให้หนำใจกันไปเลย และอย่าลืมเผื่อเวลาไว้สำหรับทำเรื่องขอคืนภาษีด้วยนะ
3. ขณะช้อปปิ้งควรคำนวณราคาของสินค้าไปด้วยว่ายอดรวมอยู่ที่เท่าไรเพื่อให้ตรงตามเงื่อนไขการขอคืนภาษีที่กำหนดไว้ เช่น สินค้ากลุ่มที่ 1 ที่กำหนดไว้ว่าต้องมียอดชำระเงินไม่ต่ำกว่า 5,001 เยน ถ้าหากช้อปปิ้งเป็นมูลค่า 5,000 เยนพอดีเป๊ะก็ไม่สามารถทำเรื่องได้
4. เมื่อได้สินค้าที่ต้องการตรงตามยอดที่กำหนดแล้วก็มองหาเคาน์เตอร์ชำระเงินได้เลย ถ้าหากเป็นร้านค้าที่สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้ในคราวเดียวกับขั้นตอนชำระเงินเลยก็ง่ายมาก ๆ แต่ถ้าเป็นร้านที่ต้องทำเรื่องแยกกันก็ต้องมองเคาน์เตอร์ Tax Free กันต่อ
5. สิ่งสำคัญสำหรับขั้นตอนการทำเรื่องขอคืนภาษีคือพาสปอร์ตที่เราต้องนำให้พนักงานทุกครั้ง จากนั้นก็ยืนรอสวย ๆ แล้วทางร้านก็จะจัดการทำเรื่องให้เราทั้งหมด
6. รับพาสปอร์ตคืน โดยภายในพาสปอร์ตจะถูกติดเอกสารการทำเรื่องขอคืนภาษีด้วยแม็กหรือสก็อตเทป อาจดูวุ่นวายเต็มไปหมด ซึ่งเราไม่ต้องตกใจเพียงแค่ระวังไม่ให้กระดาษเหล่านั้นขาดหรือหลุดออกจากพาสปอร์ต เมื่อผ่านตอนขาออก ทางเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ดึงออกเอง
7. เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนการทำเรื่องแล้ว สินค้าที่เราซื้อทั้งหมดจะถูกบรรจุลงถุงพลาสติกที่ค่อนข้างแน่นหนา ซึ่งเรา ‘ห้าม’ แกะหีบห่อโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นอาจถูกเรียกเก็บภาษีได้
8. สินค้าทุกชิ้นที่ซื้อมาสามารถแพ็กใส่กระเป๋าแล้วโหลดลงใต้เครื่องได้ตามปกติ หรือถ้าต้องการถือขึ้นเครื่อง (carry on) ก็สามารถแจ้งพนักงานขายล่วงหน้าให้แพ็กแยก (ไม่มีของต้องห้าม เช่น ของเหลว วัตถุอันตราย) เพื่อนำขึ้นเครื่องได้เลย ซึ่งไม่จำเป็นต้องสำแดงสินค้าทุกชิ้นให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้น
ข้อแนะนำ : เพื่อความสะดวกในการจัดกระเป๋าเดินทางขากลับ เราสามารถแจ้งพนักงานได้ว่าต้องการแยกสินค้าออกเป็นหมวดหมู่หรือแยกตามขนาดสินค้า อย่านำกลับมาแกะแล้วแพ็กเองใหม่เด็ดขาดเพราะจะถือว่าหีบห่อนั้นถูกแกะแล้ว หรือหากต้องการใช้สินค้าตัวไหนในขณะที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เราต้องแจ้งให้พนักงานทราบก่อนเพื่อแยกสินค้านั้น ๆ ออกมาก่อนที่จะถูกแพ็ก โดยสินค้านั้นจะไม่สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้
ข้อควรรู้
- ผู้ที่สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้จะต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น (ผู้ที่ถือวีซ่าพำนักระยะยาวอย่างเช่นวีซ่าทำงานหรือเรียนจะไม่สามารถขอคืนภาษีได้)
- ไม่ใช่ร้านค้าทุกร้านที่สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้ จะต้องสังเกตจากสัญลักษณ์ Tax Refund หรือสอบถามจากพนักงานของร้านก่อน
- คนญี่ปุ่นจะไม่ใช้คำว่า Tax Refund แต่จะใช้คำว่า Tax Free Shopping แทนความหมายของการขอคืนภาษี
- ราคาสินค้าที่จำหน่ายในร้านค้าของญี่ปุ่นจะมีอยู่ 2 ราคา ให้ยึดจากราคาที่แพงกว่าซึ่งเป็นราคาสินค้าที่รวมภาษีเรียบร้อยแล้ว
- การทำเรื่องขอคืนภาษีสามารถทำได้เฉพาะกรณีที่ซื้อสินค้ามาจากร้านเดียวกันภายในวันเดียวกันเท่านั้น
- ต้องนำพาสปอร์ตมาด้วยทุกครั้งเพื่อใช้ในการดำเนินการ
- ห้ามแกะสินค้าออกจากถุงที่ทางร้านแพ็กไว้ให้จนกว่าจะออกนอกประเทศญี่ปุ่นแล้ว
ข้อสรุป
เห็นมั้ยล่ะว่าการทำเรื่องขอคืนภาษี หรือ Tax Refund ญี่ปุ่น นี่มันไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดเลย ออกจะง่ายเสียด้วยซ้ำ เพียงแค่ต้องไม่ลืมนำพาสปอร์ตไปด้วยทุกครั้งเวลาช้อปปิ้ง และมองหาสัญลักษณ์ Tax Free Shopping ให้เจอก่อนจะพุ่งตัวเข้าร้านไปล่ะ ไม่งั้นล่ะเงิบเลย